รวมเรื่องที่ควรรู้หากอยากเป็นโปรแกรมเมอร์หรืออยากเขียนโปรแกรมเป็น
Feb 1, 2022
อยากย้ายสายงานเป็นโปรแกรมเมอร์ต้องทำอะไรบ้าง และต้องเตรียมตัวอย่างไร?
เมื่อนึกถึงอาชีพที่ต้องทำงานในยุคดิจิทัล มั่นใจได้เลยว่า อาชีพที่หลายคนนึกถึงย่อมมี “โปรแกรมเมอร์” รวมอยู่ด้วยแน่นอน เพราะนอกจากจะเป็นคนวางโครงสร้าง ออกแบบ และควบคุมเว็บไซต์ ซอฟต์แวร์ และแอปพลิเคชันบนระบบต่างๆ แล้ว โปรแกรมเมอร์ยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของเทคโนโลยีของธุรกิจใหญ่ทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น Google, Facebook, Tiktok, Shopee, Lazada, Netflix รวมไปถึง LinkedIn ที่เราใช้สมัครงานกันอยู่ทุกวันนี้ด้วย
หากใครกำลังมีความฝันอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ อยากเขียนโปรแกรมเป็น หรือยังไม่รู้ว่าอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ต้องเรียนอะไร วันนี้ TechUp จะขอพาทุกคนที่สนใจไปรู้จักกับอาชีพนี้ให้มากขึ้นเอง ถ้าพร้อมแล้ว จับคีย์บอร์ด จับเมาส์ให้พร้อมแล้วค่อยๆ เลื่อนอ่านตามมาเลย
เส้นทางสำหรับคนอยากเป็นโปรแกรมเมอร์
อาชีพโปรแกรมเมอร์ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพสำคัญที่ทุกบริษัทที่ต้องการจะปรับตัวเข้าสู่โลกดิจิทัลต้องมี ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้วางโครงสร้าง ควบคุม และออกแบบเว็บไซต์ รวมไปถึงเทคโนโลยีต่างๆ อย่างที่กล่าวไปข้างต้นแล้ว โปรแกรมเมอร์ยังเป็นหนึ่งในผู้สร้างสรรค์ที่ทำให้การออกแบบในส่วนต่างๆ ของทุกทีมและการเขียนเนื้อหาของทีมคอนเทนต์เข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างตรงจุดตามที่นักวิเคราะห์ได้วางแผนไว้
แต่อย่างไรก็ดี อาชีพโปรแกรมเมอร์ก็ยังเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่คนรู้จักรายละเอียดน้อยมาก และเข้าใจไปว่าการทำงานในอาชีพนี้จำเป็นต้องใช้ปริญญาตรงสาขา รวมถึงใช้เงินและเวลาจำนวนมากในการหาความรู้เพิ่มเติม แต่ในความเป็นจริงแล้ว อาชีพนี้จะเป็นอย่างไร ตามมาไขข้อสงสัยไปกับ 3 คำถามที่หลายคนมักสงสัยเกี่ยวกับอาชีพโปรแกรมเมอร์กันได้เลย
1. อยากเป็นโปรแกรมเมอร์ต้องเริ่มต้นอย่างไร?
การเริ่มต้นสายงานโปรแกรมเมอร์นั้นไม่ต่างอะไรกับการเลือกเรียนคณะในมหาลัย ซึ่งหากใครอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ หรือ อยากเขียนโปรแกรมเป็น สิ่งแรกที่ต้องถามตัวเองให้ดีก็คือ
- “เราอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ทำไม”
- “การเป็นโปรแกรมเมอร์มีหลายเรื่องที่ต้องเข้าใจ เราพร้อมไหม”
- “โปรแกรมเมอร์เป็นอาชีพที่ตอบโจทย์ชีวิตของเราจริงหรือไม่”
ซึ่งนอกเหนือจากทั้ง 3 คำถามนี้ เราก็อาจจะลองศึกษาข้อมูลการทำงานของโปรแกรมเมอร์สักพักและลองดูว่างานประเภทนี้ตอบโจทย์เรามากน้อยแค่ไหนก็ได้เช่นกัน ซึ่งทั้งคำถามหรือการศึกษาข้อมูลนี้จะช่วยทำให้เราพิจารณาถึงความต้องการตัวเอง รวมถึงเป็นการตั้งเป้าหมายในการเรียนรู้อีกด้วย เพราะลองคิดดูง่ายๆ หากเราไม่มีเป้าหมายในการทำอะไรสักอย่าง นานวันเข้าก็อาจล้มเลิกความตั้งใจไปเลยก็ได้
2. ไม่ได้จบตรงสาย เป็นโปรแกรมเมอร์ได้ไหม?
อีกหนึ่งคำถามยอดฮิตเกี่ยวกับอาชีพนี้ที่หลายคนคงเคยได้ยิน คือ “เป็นโปรแกรมเมอร์ต้องเรียนอะไรบ้าง” หรือ “อยากเป็นโปรแกรมเมอร์ต้องเรียนอะไร” หรือ “ไม่ได้จบสายคอมฯ มา เป็นโปรแกรมเมอร์ได้ไหม” คำตอบก็คือ ตราบใดที่เรามี Technical Skills และทักษะการทำงานเป็นทีมครบถ้วน ก็สามารถเข้ามาทำงานสายนี้ได้ ไม่ว่าจะมีใบปริญญามาจากสายไหน หรือไม่มีใบปริญญามาเลยก็ตาม จริงอยู่ว่า โปรแกรมเมอร์ส่วนใหญ่มักเรียนจบด้านคอมพิวเตอร์มาโดยตรง แต่ในโลกการทำงานจริงแล้ว ต่อให้ไม่ได้จบปริญญาสายคอมพิวเตอร์ วิศวะ หรือแม้แต่ไม่มีใบปริญญาก็สามารถฝึกทักษะต่างๆ เหล่านี้ และสอบ Techincal Test ต่างๆ เพื่อไปเป็นโปรแกรมเมอร์ในบริษัทชั้นนำได้เช่นกัน
3. เป็นโปรแกรมเมอร์จะมีเงินเดือนเยอะเหมือนที่เข้าใจไหม?
เมื่อพูดถึงการเป็นโปรแกรมเมอร์ เงินเดือนย่อมเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่หลายคนนึกถึง เนื่องจากมีเนื้องานที่ยาก ซับซ้อน และเต็มไปด้วยรายละเอียด แต่การจะตอบได้ว่าเป็นโปรแกรมเมอร์นั้นได้เงินเดือนเยอะไหมนั้น ต้องพิจารณาจากความสามารถในการทำงานทั้งหมดร่วมกัน เช่น ความสามารถในการรับผิดชอบงาน การสื่อสารภาษาอังกฤษ ทักษะการบริหารโปรเจกต์ และอื่นๆ อีกมากมาย
นอกจากนี้ ความรวดเร็วในการทำงานก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่กำหนดเงินเดือนในหลายๆ ที่ทำงานเช่นกัน ซึ่งลองคิดดูง่ายๆ โปรแกรมเมอร์เป็นคนที่ต้องใช้สมองแปลงคำพูดและทุกอย่างให้เป็นโค้ด ดังนั้น หากยิ่งคิดวิเคราะห์ได้เก่ง แปลงโจทย์จากสถานการณ์จริงเป็นโค้ดได้ และมีความสามารถในการใช้เครื่องมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะมีโอกาสในการก้าวหน้าก็สูง ซึ่งการพัฒนาทักษะเหล่านี้ก็ต้องเริ่มต้นจากการฝึกฝนและเก็บเกี่ยวประสบการณ์เช่นกัน
จะฝึกตัวเองให้เป็นโปรแกรมเมอร์ได้อย่างไร
การเป็นโปรแกรมเมอร์ไม่ได้ยากหรือง่ายอย่างที่คิด หากลองถามตัวเองและพิจารณาปัจจัยต่างๆ แล้ว และพบว่าอยากเดินไปสายโปรแกรมเมอร์ต่อ เราก็สามารถฝึกตัวเองได้ง่ายๆ ตามขั้นตอนต่อไปนี้
- ลองเลือกแพลตฟอร์มที่ชอบมาศึกษาก่อน
หลายคนอาจมองว่า การเลือกภาษาในการเขียนโปรแกรมเป็นเรื่องแรกที่ต้องทำ แต่สำหรับมือใหม่ที่อยากเขียนโปรแกรมเป็น สิ่งแรกที่ควรทำ คือ หาแพลตฟอร์มหรือเทคโนโลยีที่ตัวเองชอบ จากนั้นจึงดูภาษาของเทคโนโลยีที่สนใจและค่อยทำการศึกษาทีหลัง ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยทำให้เราเห็นภาพและศึกษารายละเอียดอื่นๆ บน “ความอยากรู้” ซึ่งความอยากรู้นี่แหละจะช่วยทำให้เราไปต่อและพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ - ลองตั้งโจทย์เอง
หากเจอแพลตฟอร์มหรือเทคโนโลยีไหนที่น่าสนใจ ลองมาตั้งคำถามเล็กๆ ว่า เทคโนโลยีนั้นๆ ตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างไร มีเรื่องอะไรที่ดี มีเรื่องอะไรที่ต้องพัฒนา จากนั้นจึงค่อยๆ ลองตั้งโจทย์จากสิ่งที่พบว่า “ถ้าเป็นเราจะทำอย่างไรให้แพลตฟอร์มนี้ดียิ่งขึ้น ตอบโจทย์ยิ่งขึ้น และพัฒนาไปในทิศทางไหนบ้าง” ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยทำให้เราวางแผนการเขียนโปรแกรมได้ตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น - ศึกษา ทดลองภาษา และเลือกเครื่องมือ
ทีนี้ก็ถึงการเริ่มลงมือทำ! โดยการเป็นโปรแกรมเมอร์นั้นจำเป็นต้องใช้เลือกใช้ภาษาในการเขียน โค้ดให้เหมาะสมกับงานมากที่สุด โดยการเลือกภาษาสามารถทำได้ง่ายๆ ตั้งแต่เลือกจากความชอบ ความถนัด ไปจนถึงความต้องการของตลาด รวมไปถึงความต้องการเรียนรู้ของตัวเอง และเมื่อเลือกภาษาเรียบร้อยแล้วก็ค่อยเลือกเครื่องมือ Database และเครื่องมืออื่นๆ ที่ช่วยให้การทำงานง่ายขึ้น - ฝึกเขียนไปเรื่อย ๆ
หากอยากรู้ว่าโปรแกรมเมอร์ต้องมีคุณสมบัติอะไร มั่นใจได้ว่าคุณสมบัติที่โปรแกรมเมอร์ทุกคนต้องมี คือ “ความขยัน” “ความอดทน” และ “ความพยายาม” ในการฝึกและเรียนรู้ เพราะอย่าลืมว่าการเขียนโค้ดและสร้างโปรแกรมย่อมมี Error เกิดขึ้นได้เสมอ ซึ่งหากยิ่งพบ Error มากเท่าไหร่ก็ต้องยิ่งใจเย็นและแก้ไขมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้น การฝึกไปเรื่อยๆ นี้จะช่วยทำให้เราลดข้อผิดพลาดของตัวเองและได้เรียนรู้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
โปรแกรมเมอร์ที่ตลาดต้องการมีคุณสมบัติอย่างไร?
หากสงสัยว่าเรียนโปรแกรมเมอร์แล้วจบมาทํางานอะไรได้บ้าง บอกได้เลยว่าตลาดงานของโปรแกรมเมอร์นั้นเปิดกว้างตั้งแต่สาย Data Analyst ไปจนถึง Software Developer และ Software Engineer โดยทักษะที่จำเป็นจะขึ้นอยู่กับรายละเอียดของสายงานนั้น แต่ที่สำคัญ คุณสมบัติของโปรแกรมเมอร์ที่ตลาดต้องการไม่ได้มีแค่ความสามารถในการเขียนโค้ดเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องมีคุณสมบัติอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น
- ความรู้ความสามารถในการวิเคราะห์โจทย์และแก้ไขปัญหา
- สกิลภาษาอังกฤษ เพราะอย่าลืมว่าการสื่อสารและเรียนรู้จากแหล่งออนไลน์เพื่อต่อยอดทักษะตัวเอง จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษทั้งสิ้น
- สกิลการทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยส่วนใหญ่แล้ว โปรแกรมเมอร์จะทำงานร่วมกันเป็นทีม อีกทั้งยังต้องประสานงานกับทีมอื่นๆ เพื่อสร้างสรรค์งานร่วมกัน ดังนั้น หากเรามีความรู้แน่นแต่สื่อสารออกไปให้ผู้อื่นเข้าใจไม่ได้ งานก็จะเดินหน้าไม่ได้เช่นกัน
- ความสามารถในการบริหารโปรเจกต์ เพื่อให้งานทุกอย่างลุล่วงไปได้
จะเห็นได้ว่าการเป็นโปรแกรมเมอร์นั้นไม่ได้มีแค่การเขียนโค้ดเหมือนที่หลายคนเข้าใจ และถ้าหากเลือกเส้นทางให้ดี การอยากเป็นโปรแกรมเมอร์ก็ไม่ได้ต้องใช้ค่าใช้จ่ายหรือเวลามากเกินเหมือนที่หลายคนคิดด้วย
และสำหรับคนมีฝันที่อยากเขียนโปรแกรมเป็นเพื่อพัฒนาต่อไปเป็นโปรแกรมเมอร์ หรืออยากย้ายสายงานเป็น Software Developer หรือ Software Engineer ในอนาคต นอกจากจะหาความรู้เพิ่มเติมด้วยตัวเองแล้ว ทุกคนยังสามารถเข้ามาทำอาชีพนี้ได้อย่างรวดเร็วผ่านการเรียนใน Bootcamp เช่นคอร์สของ TechUp ซึ่งใช้หลักสูตรที่สอนครบทุกทักษะ สามารถปั้นผู้ที่ไม่มีพื้นฐานให้กลายเป็นโปรแกรมเมอร์คุณภาพ เข้าทำงานในบริษัทชั้นนำได้ภายใน 4 เดือน พร้อมช่วยฝึกให้ “ทำงานเป็น” และหางานให้ทำได้หลังเรียนจบ โดยสามารถเริ่มเรียนได้โดยจ่ายค่าแรกเข้าแค่ 4,000 บาท จ่ายระหว่างเรียน 4,000 บาท และจ่ายที่เหลือหลังเรียนจบและได้งานแล้ว ถ้าอยากรู้ว่าคุณจะพัฒนาตัวเองให้เป็นโปรแกรมเมอร์คุณภาพดีมีคุณสมบัติครบถ้วนได้อย่างไร ดูรายละเอียดของหลักสูตรเราได้เลยที่นี่